loading...
จากกรณีในการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อ่านกระแสพระราชปรารภ เพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (ฉบับที่ 20) ความว่า
" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลว่า นับเเต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด
แม้ได้มีการยกเลิกเเก้ไขเพิ่มเติมเเละประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง เเต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาเเละข้อขัดเเย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกมิได้
เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากที่มีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริต ฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติเเละประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันเเละเเก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาเเละการบังคับใช้กฎหมายเเละเสริมสร้างความเข้มเเข็งของระบบคุณธรรมเเละจริยธรรม เเต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมือง การปกครอง ที่ยังไม่เหมาะสมเเก่สภาวการณ์บ้านเมืองเเละกาลสมัยให้ความสำคัญเเก่รูปแบบเเละวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้เเก่พฤติกรรมของบุคคลเเละสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปเเบบเเละวิธีการเเตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล
รัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เเก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ.2558 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง เเละเป็นเเนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเเละกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบเเละสร้างความเข้มเเข็งเเก่การปกครองประเทศขึ้นใหม่ ด้วยการจัดโครงสร้างของหน้าที่เเละอำนาจขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เเละสัมพันธภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารให้เหมาะสม
การให้สถาบันศาลเเละองค์กรอิสระอื่นซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรมและมีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤตของประเทศตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรองปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยถือว่า การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เพื่อคุ้มครองส่วนรวม
การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชน เช่นเดียวกับการให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อรัฐ การวางกลไกป้องกันตรวจสอบและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจและการกำหนดมาตรการป้องกันและบริหารจัดการวิกฤตการณ์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนได้กำหนดกลไกอื่นๆ ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ระบุไว้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและวิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่างร่วมมือร่วมใจกัน รวมตลอดทั้งการลดเงื่อนไขความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนพื้นฐานของความรู้รัก สามัคคี ปรองดอง การจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนกับหน่วยงานทั้งหลายของรัฐ ตามแนวทางประชารัฐภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นตอน จนเกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนทั้งในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในหลักการและเหตุผลของบทบัญญัติต่างๆ เป็นระยะๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญและความหมายโดยผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
สารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญด้วยการเสนอแนะข้อควรแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก็ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุปในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าใจเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญได้โดยสะดวกและเป็นการทั่วไป และจัดให้มีออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ในการนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกประเด็นหนึ่งเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติในคราวเดียวกันด้วย การออกเสียงประชามติปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ เห็นชอบกับร่างของรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมดังกล่าว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ในประเด็นเพิ่มเติมและได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า เป็นการชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางส่วนและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อมา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2560 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะบางประเด็นได้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีจึงนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป
ทรงพระราชดำริว่า สมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติจึงมีพระราชการโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป
ขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันที่จะปฎิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนชัยมงคล อเนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระราชปณิธานปรารถนาทุกประการเทอญ"
หลังจากข่าวดังกล่าว ได้เผยแพร่ออกสู่สาธาณชนเรียบร้อยแล้ว ที่เพจของ “หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)” ก็ได้โพสต์ถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยยกข้อความของเนื้อหา มีเนื้อหาว่า
ช่างเป็นพระราชปรารภที่ทรงคุณค่ายิ่ง แก่พสกนิกรปวงชนชาวไทยและรัฐบาล คสช.โดยแท้
ด้วยพระราชปรารภนี้ ควรที่รัฐบาลและปวงชนชาวไทยจะน้อมนำมาเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
และด้วยพระราชปรารภนี้ ทำให้คนไทยผู้มีหัวใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รู้สึกอุ่นใจ ภาคภูมิใจ ที่ประเทศไทยโชคดี มีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ผู้ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการทอดพระเนตรเห็นปัญหาของบ้านเมือง ทรงเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาอันจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนได้อย่างถูกตรงและมีประสิทธิผล
และด้วยพระราชปรารภนี้ทำให้คนไทยอย่างพุทธะอิสระรู้สึกปลาบปลื้ม ปีติ ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย ด้วยความรู้สึกที่ว่า ต่อแต่นี้ไป พวกเราคนไทยผู้มีหัวใจรักชาติ คงจะเหนื่อยน้อยลง พวกเราคงจะไม่ต้องไปกินไปนอนอยู่กลางถนน ไม่ต้องอดทนต่อการบีบคั้นต่อความร้อน หนาว เปียก ชื้น ระเบิด และแก๊สน้ำตา อยู่บนถนนอีกต่อไปแล้ว
เพราะด้วยการเสียสละอย่างทุ่มเทของผู้กล้าทั้งหลาย วันนี้ประเทศไทยจึงได้รัฐบาล คสช. ที่เข้าใจเข้าถึงต้นตอรากเหง้าของปัญหาประเทศ
อีกทั้งด้วยพระบุญญาธิการของพระราชวงศ์จักรี คนไทยจึงโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ที่ทรงเสียสละทุ่มเท ทรงเข้าใจ เข้าถึงปัญหาในทุกมิติของประชาชน จึงสามารถดับร้อนผ่อนทุกข์ให้กับแผ่นดินไทยได้ตลอดมา
แม้แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑๐ ก็ยังทรงเห็นรากเหง้าปัญหาของประเทศได้อย่างถ่องแท้
และด้วยพระราชปรารภนี้ ทำให้ความกังวลห่วงใยของคนไทยที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง ได้ผ่อนคลายไปได้ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระอัจฉริยภาพอันยิ่งใหญ่ที่ทรงเข้าใกล้ เข้าใจ เข้าถึงจนเห็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
สาธุ สาธุ สาธุ ขอถวายพระพรให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
พุทธะอิสระ
Cr:http://www.tnews.co.th/contents/309662