เต้าหู้ เป็นอาหารนานาชาติ สำหรับในอาหารไทยเราสามารถนำเต้าหู้มาปรุงอาหารได้ โดยใช้เป็นตัวประกอบกับเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดผักรวมมิตร เป็นต้น ทั้งยังนำมาเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น เต้าหู้ทอด เต้าหู้ทรงเครื่อง เป็นต้น ด้วยอาหารไทยนี้สามารถนำเอาวัฒนธรรมการกินของหลายๆ ชาติเข้าร่วมได้อย่างกลมกลืน
ปัจจุบันมีเต้าหู้มากมายไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลืองทั้งชนิดอ่อนและแข็ง มีแบบจีนและแบบญี่ปุ่น ซึ่งเต้าหู้ญี่ปุ่นจะเป็นเต้าหู้ที่ไม่ปรุงแต่งรสชาติเหมือนเต้าหู้จีน แล้วยังมีเต้าหู้หลอด ฟองเต้าหู้และเต้าหู้อื่นๆ ให้เลือกซื้อ นำมาปรุงเป็นอาหารจานเต้าหู้อิ่มอร่อย เต้าหู้อ่อนเป็นเต้าหู้ที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม มีสีขาวนวล กลิ่นหอมมีทั้งแบบก้อนบางและก้อนหนาให้เลือก
ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ เต้าหู้หลอด เป็นเต้าหู้อ่อน อีกชนิดหนึ่งที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย บรรจุลงในหลอดพลาสติกเพื่อความสะอาด เก็บได้นานสะดวกเวลา ใช้มีทั้งชนิดธรรมดาและชนิดไข่ นิยมนำมาใส่แกงจืด สุกียากี้ เต้าหู้อบ เต้าหู้ตุ๋น และเต้าหู้ทรงเครื่อง ดังจะกล่าวในตำรับอาหารนี้
สูตรเต้าหู้ทรงเครื่อง
ส่วนผสมเต้าหู้เครื่อง (สำหรับ 1 ที่)
เต้าหู้ไข่ไก่ 1 หลอด
กุ้งสด (กุ้งแชบ๊วย) 5 ตัว (ขนาดกลาง)
แครอทหั่นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า 2 ช้อนโต๊ะ
ต้นหอมหั่นท่อน 2 ช้อนโต๊ะ
เห็ดฟาง 7 ดอก (ดอกเล็ก)
ขึ้นฉ่ายหั่นท่อน 1/4 ถ้วยตวง
กระเทียมสับ 1/2 ช้อนโต๊ะ
ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
ซอสหอยนางรม 2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา
น้ำมันถั่วเหลือง 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำเต้าหู้ทรงเครื่อง
หั่นเต้าหู้เป็นท่อน นำไปทอดในน้ำมันพืชร้อน จัด ไฟปานกลาง เวลาทอดค่อยๆ พลิกเต้าหู้จะได้สวย เป็นท่อน ทอดพอเหลืองสุกให้ตักใส่จาน พักไว้
น้ำมันที่เหลือจากการทอดเต้าหู้ เจียวกระเทียมให้หอม ใส่กุ้ง แครอต เห็ดฟาง ผัดให้เข้ากันเติมน้ำเปล่า ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส ซอยหอยนางรม น้ำตาลทราย คนให้เข้ากันพอเดือด
ใส่ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ผัดให้เข้ากันนำไปราดบนเต้าหู้ทอดที่เตรียมไว้
กินกับข้าวสวยร้อนๆ
คุณค่าโภชนาการของเต้าหู้ทรงเครื่อง
เมื่อกินกับ ข้าวสวย 1 จาน ให้พลังงาน 634 กิโลแคลอรี ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานค่อนข้างมากสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี (ได้แก่เด็ก หญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ) ในขณะที่ให้พลังงานพอเหมาะสำหรับวัยรุ่น และชายวัยทำงาน ซึ่งต้องการพลังงานโดยเฉลี่ยวันละ 2,000 กิโลแคลอรี
โดยพลังงานจากอาหารจานนี้เป็นพลังงานที่มาจากไขมันถึงร้อยละ 38.4 (โดยเฉลี่ยในหนึ่งวันควรได้รับพลังงานจากไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด) หรือเกือบร้อยละ 45 ของปริมาณไขมันที่ควรได้รับในหนึ่งวัน (แนะนำโดยเฉลี่ย 60 กรัมต่อวัน) ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร
ส่วนปริมาณโปรตีนที่ได้จากการกินอาหารจานนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยให้โปรตีนถึงร้อยละ 57.8 ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวัน (แนะนำโดยเฉลี่ยวันละ 50 กรัม) โดยเป็นโปรตีนที่มาจากเนื้อกุ้งและไข่ไก่ที่ใช้ในการทำเต้าหู้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีเนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม อาหารจานนี้มีคอเลสเตอรอลที่สูงเนื่องจากมีทั้งไข่ไก่และเนื้อกุ้งเป็นส่วนประกอบ และมีโซเดียมที่สูงเช่นกัน โดยคิดเป็นร้อยละ 79 ของปริมาณ ที่แนะนำต่อวัน ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีมีข้อแนะนำว่าเราควรได้รับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมและโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
ดังนั้นขอแนะนำเมื่อกินอาหารจานนี้คือ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูงในมื้อถัดไป ซึ่งได้แก่ อาหารผัด อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน/ติดหนัง อาหารคาวและหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งอาหารประเภทเบเกอรี่ต่างๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ ไข่ชนิดต่างๆ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติ เค็มจัด อาหารหมักดองในวันนั้นด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 347 บทความโดย ศศพินทุ์ ดิษนิล
Cr:http://www.sara-1000.com/2016/10/blog-post_94.html